สลิงรอก: สาเหตุ ทำไม? สลิงถึงเสียหายจากการใช้งาน

    การเลือกสลิงไม่ตรงสเป็คจะส่งผลต่อการใช้งานที่สลิงอาจเสื่อมสภาพเร็วก่อนกำหนด หรือใช้งานได้ไม่นานก็ขาด หรือเป็นสาเหตุให้ดรัมและโรปไกด์เสีย ถ้าเข้าใจและเลือกสลิงให้ตรงสเป็คก็จะเห็นรายละเอียดความแตกต่างที่ช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อสลิงอย่างเหมาะสม # ราคาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูคุณภาพด้วย

    สลิงรอก ทำไมซื้อของแท้ก็ขาด ไม่แท้ก็ขาด ทั้งที่ติดตั้งไปได้ไม่นาน อายุได้ไม่ถึงปี อะไรๆก็บอกว่าเกิดจากการใช้งาน เคลมก็ไม่ได้ แบบไหนก็ไม่ทน เรื่องปวดหัวของคนดูแลเครน  เรามาดูสาเหตุกันว่าทำไมสลิงถึงเสียหายจากการใช้งาน

    1. การยกลาก เฉียง ดึง ฉุด 
    • เมื่อตรวจสอบจะพบร่องรอยสลิงถูกเฉือนที่ผิวด้านข้างสลิง
    • ถ้ามีโรปไกด์จะเห็นรอยเฉือนหรือรอยเสียดสีที่ร่องโรปไกด์ด้วย
    • ถ้ารุนแรงคือข้ามร่องดรัมหรือตกไปในร่องตรงคอดรัมทำให้สลิงถูกกินและบดจนขัดต้องรื้อถอดรอกลง

    📌 หากไม่สามารถหยุดพฤติกรรมการใช้รอกสลิงไปยกลาก เฉียง ดึง ฉุดของผู้ใช้งานได้ เราสามารถติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันที่เรียกว่า Angle Limit Sensor ไว้ที่เส้นลวดสลิงรอกได้เพื่อป้องกันไม่ให้ยกลากหรือเอียงเกินองศาที่จะเกิดความเสียหาย 

    1. การช็อคโหลด (ยกกระชากแรง) เช่น
    • ขณะยกชิ้นงานหนักแล้วอุปกรณ์ช่วยยกยึดเกี่ยวหลุด/ขาดหรือชิ้นงานพลิกกลางอากาศก็จะทำให้สลิงถูกกระตุกด้วยแรงกระชากจะทำให้แรงดึงที่สลิงจะต้องรับภาระเพิ่มขึ้นหลายเท่า
    1. การยกโอเวอร์โหลด (ยกน้ำหนักเกิน) เช่น
    • ยกเกินพิกัดยกน้ำหนักที่ปลอดภัยที่กำหนด ทำให้สลิงรับภาระแรงดึงไม่ไหว รอกบางรุ่นไม่มีเทคโนโลยีควบคุมพิกัดยกเกิน คนใช้งานมักคิดว่า ถ้ามันยกขึ้นก็ยกไป แต่เบรกไปไหลกลางทางหรือสลิงขาดกลางคัน
    1. การถูกบีบอัดของสลิงด้วยอุบัติเหตุ
    • ไม่มีลิมิตตัดขึ้นหรือลิมิตสวิทช์ตัดการทำงานของสลิงเสียทำให้ตะขอชนอัดกับเฟรมและสลิงในดรัมเสียหายการดัดแปลงหรือบำรุงรักษาสลิงผิดวิธี
    • เลือกใช้สลิงผิดสเป็ค ผิดเกลียว ผิดขนาด ซึ่งจะส่งผลในเวลาต่อมา ทำให้สลิงเสื่อมสภาพก่อนกำหนด (บางครั้งเห็นว่าใช้ได้ก็มักใช้งาน แต่จะมีผลระยะต่อมา)
    • มักเข้าใจผิดบำรุงรักษาสลิงด้วยการชโลมจารบีบนผิวสลิงหนาๆเพื่อป้องกันสนิม แต่จารบีมีความเหนียวและไม่มีคุณสมบัติแทรกซึมจะทำให้เกาะที่ผิวสลิงแน่นและดูดผงฝุ่นหรือผงเหล็กไปด้วยทำให้สลิงขยายขนาดจนเบียดเสียดสีระหว่างร่องจนเริ่มแตกขาดฝอย ซึ่งมักจะสังเกตไม่พบ เพราะจารบีเกาะหนามองไม่เห็นเส้นลวดที่แตกขาดฝอย

    ฉะนั้นทั้งฝ่ายผู้ใช้งานและผู้ดูแลเครนต้องร่วมมือกันใช้งานและบำรุงรักษารอกและเครนอย่างถูกวิธีด้วย และหลีกเลี่ยงสาเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดถึงจะลดปัญหาสลิงขาดหรือเสื่อมสภาพก่อนระยะเวลาที่กำหนด

    คำแนะนำบำรุงรักษาสลิงรอกอย่างถูกต้อง

    • ถ้าสัมผัสที่สลิงพบว่า สลิงมีสภาพผิวแห้งสนิทและจับแล้วกระด้าง ไม่มีสารหล่อลื่นเลยให้ชโลมสารหล่อลื่นชนิดแทรกซึมบางๆ (ถ้าสัมผัสที่ผิวสลิงพบว่าไม่แห้งผากและยังคงมีสารหล่อลื่นก็ไม่ต้องชโลม)
    • ไม่ควรใช้สารหล่อลื่นหรือจารบีอาบไปบนสลิงโดยตรงเป็นก้อนๆ แล้วถูไปมา เพราะจารบีจะพอกตัวเหนียวบริเวณผิวสลิงและปิดบังรอยแตกขาดฝอย ทำให้มองไม่เห็นจึงตรวจสอบไม่พบ
    • ควรทำการอัดจารบีเข้าไปในลูกปืนหมุนบริเวณคอดรัมทุกข้าง เพื่อให้เกิดการหล่อลื่น ไม่ให้ดรัมหมุนติดขัด

    ปกติที่บริษัทฯ เราใช้สลิงที่มีสารหล่อลื่นในกระบวนการผลิตมาแล้วและชโลมหล่อลื่นระดับปริมาณ A2 คือ ชโลมเล็กน้อย ถ้าสูงกว่าระดับนี้จะชุ่มเยิ้มเหนียวมากเกาะติดผิวสลิงเกินไป และพบว่าสลิงที่สั่งมาใช้แทบไม่ต้องชโลมเพื่อบำรุงรักษามาก เพราะยังคงสภาพสารหล่อลื่นได้ดี หรือถ้ามีสภาวะที่ทำงานเป็นกรดหรือเคมีก็จะให้แนะนำให้ใช้รุ่น Galvanized ที่เคลือบผิวป้องกันมาจากโรงงานผลิตเลย หรือถ้าจำเป็นต้องหล่อลื่นก็จะชโลมหล่อลื่นที่ดรัมมากกว่าจะทาจารบีที่สลิงโดยตรง

    อย่าทาจารบีจนเหนียวข้นมองไม่เห็นผิวสลิงที่แท้จริง “ลวดสลิงขาดแบบมองเห็น ดีกว่าขาดแบบมองไม่เห็น” นั่นเท่ากับอันตรายแบบไม่ป้องกัน # ท่านใดทำขอให้เปลี่ยนวิธีการหล่อลื่นสลิง

    สรุปจะซื้อสลิงยี่ห้อไหนก็ขอให้ตรงสเป็คไว้ก่อน ไม่จำเป็นต้องยี่ห้อแท้ที่ติดตัวรอก เพราะอย่างไรทุกค่ายก็มีเงื่อนไขเดียวกัน นั่นคือ “ขึ้นอยู่กับการใช้งานและการตรวจสอบบำรุงรักษา” # สลิงแท้หรือไม่แท้ก็ขาดและไม่ทน ถ้ายังใช้งานหรือบำรุงรักษาผิดวิธี ดังนั้น การใช้งานให้ถูกวิธีหรือติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงให้น้อยลงได้

    Similar Posts