การเลือกใช้สลิง ให้ตรงสเป็ครอก
สลิงรอก ยังคงเป็นปัญหาที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ “การเลือกใช้สลิงให้ตรงสเป็ครอก” ส่วนใหญ่มักใช้เท่าที่ร้านมีขาย มีแบบไหนก็ใช้แบบนั้น แต่ที่จริงเราต้องเลือกให้ถูกต้อง
- ทิศทางเกลียว
- เลือกให้ถูกต้องว่าสเป็คที่ผู้ผลิตกำหนดมาเป็นทิศทางซ้ายหรือขวา ถ้าเอาซ้ายไปใส่ขวา หรือเอาขวาไปใส่ซ้ายจะมีผลทำให้สลิงขัดกับรอยสลิงเดิมที่ร่องดรัม ใช้ได้ไม่นานก็เริ่มแตกเกลียว
- ต่อมาจะรู้ได้อย่างไรว่า สเป็คที่ถูกต้องแท้จริงคืออะไร ในกรณีมีคู่มือก็ดูที่คู่มือ แต่ถ้าไม่มีคู่มือก็ดูที่รอยสลิงบนร่องดรัม ถ้าไม่เห็นต้องดูที่การออกแบบดรัมว่าร่องเฉียงไปทางไหน (โปรดดูภาพประกอบ)
- ขนาดสลิง
- ขนาดสลิงเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าใส่เล็กกว่าสเป็คก็จะไม่พอดีกับร่องดรัมส่งผลให้สลิงมีช่องว่างในร่องมากเกินไปจะเกิดการหลวมคลอน และถ้าใส่ขนาดใหญ่เกินไปจะทำให้ล้นร่องดรัมจนสลิงเบียดอัดเสียดสีกันจนขาดและแตกฝอย
- การหาสเป็คขนาดสลิงที่ถูกต้อง ถ้ามีคู่มือให้ดูที่คู่มือ หรือถ้ามีเนมเพลตที่ตัวรอกให้ดูที่เนมเพลท แต่ถ้าไม่มีทั้งสองอย่างให้วัดจากสลิงเส้นเดิม แต่ต้องมั่นใจว่าสลิงเส้นเดิมถูกสเป็ค แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าของเดิมถูกต้องหรือไม่หรือใครใส่ไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่ทราบอีกก็มีอีกวิธีคือวัดร่องดรัม(ขอบใน)ว่าได้เท่าไร แล้วลบ 5% ที่ผู้ผลิตมักดีไซน์ร่องดรัมให้ใหญ่กว่าเพื่อรองรับค่าเผื่อของขนาดสลิงจากกระบวนการผลิตที่มี layer ด้านในของสารหล่อลื่นหรือใยไฟเบอร์ กล่าวคือ ถ้าสั่งสลิงขนาด 10 มม มักจะมีโอกาสกลายเป็น 10.1-10.5 มม อยู่ในระยะที่ร่องรับได้
- โครงสร้างสลิง
- สลิงรอก “ส่วนใหญ่” ใช้สลิงชั้นเดียว คือ มีมัดเกลียว + ใส้แกนกลาง เพื่อให้สามารถหมุนไปในทิศทางเดียวกันกับชุดตะขอเสมอ เมื่อใช้งานแล้วเกิดการหมุนไปมาเท่าไรก็ตาม สลิงจะหมุนกับมาที่ Center เสมอ (เหมือนพวงมาลัยรถเพาเวอร์) ยกเว้นมีการพลิกตลบตะขอที่ทำให้สลิงบิดไขว้ กรณีนี้ต้องพลิกตะขอกลับเอง
- แต่คนส่วนใหญ่หรือผู้ขายบางรายมักนำสลิงสองชั้น ที่ติดปากเรียกกันว่า นันโรล (Non Rotating) ซึ่งสลิงจะมีมัดเกลียวชั้นนอก+ชั้นใน+ใส้แกนกลาง ถ้าสลิงชั้นนอกเป็นซ้าย สลิงชั้นในจะเป็นขวา และถ้าสลิงชั้นนอกเป็นขวา สลิงขั้นในจะเป็นซ้ายตรงข้ามกันเสมอ สลิงชนิดนี้มักใช้กับเครนก่อสร้างหรือรถเครนที่ต้องยกสูงมากทำให้สลิงมีความยาวมากจึงต้องใช้ชนิดนี้ เนื่องจากต้องการแรงต้านทานลดการหมุนตัวของสลิงขณะยกชิ้นงาน รอกสลิงบางรุ่นที่ยกสูงมาก เช่น ลิฟต์ขนสินค้า เป็นต้น จำเป็นต้องใช้สลิงแบบ Non Rotating
- คำว่าโครงสร้างสลิง เป็นข้อมูลเทคนิคที่ทุกท่านควรทราบและเลือกใช้ให้ถูกต้อง หากเลือกผิดก็มีผลทำให้อายุสลิงสั้น เพราะแรงดึงไม่พอกับภาระที่ใช้งานโดยวิธีการดูคือ ถ้ามีคู่มือให้ดูที่คู่มือ แต่บางเล่มไม่ระบุหรือไม่พบคู่มือก็ต้องดูจากสลิงเส้นเดิม แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าสลิงเดิมใส่ถูกรึเปล่า ก็อาจจะต้องช่วยกันวิเคราะห์ตามยี่ห้อรอก
- รอกยี่ห้อแบรนด์กลุ่มเอเชียและยุโรปบางยี่ห้อ เช่น CMAK Morris Street มักใช้โครงสร้าง 6×36 IWRC นั่นคือ มีสลิง 6 มัด แต่ละมัดสลิงมีลวดสลิงอยู่ 36 เส้น ใส้แกนลวดเหล็ก
- รอกยี่ห้อแบรนด์ยุโรป มักใช้โครงสร้าง 8×29 IWRC ในสลิงขนาด Dia 8 มม ขึ้นไป และ 8×12 IWRC หรือ 8×19 IWRC ในสลิงขนาดต่ำกว่า 8 มม ลงมา ทั้งนี้ ถ้ายังสรุปไม่ได้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญมาตรฐาน (ลองปรึกษาเราก่อน ไม่จำเป็นต้องซื้อที่เราก็ได้)
- แกนใส้สลิงส่วนใหญ่เป็นแกนลวดสลิงเหล็ก แต่มีบางรุ่นใช้ใส้เชือก เช่น รอกที่ใช้งานกับลิฟต์ที่สูงๆ เพระต้องการความยืดหยุ่นในการบิดโค้งงอ แต่ถ้าใช้งานจริงกับรอกโรงงานเท่าที่เก็บสถิติมา ใส้เหล็กทนกว่าใส้เชือก แต่ที่ใช้ไส้เชือกเพราะราคาถูกกว่าประมาณ 15% (รอกยี่ห้อมิตซูใช้ใส้เชือก แต่เทียบใช้ใส้เหล็กได้ผลว่าใช้ได้นานกว่าก็เลยให้เป็นทางเลือกของลูกค้า)
- จะมีผลอย่างไรถ้าใส่โครงสร้างผิด? มีผลคือ สลิงไม่ทน จะเสื่อมอายุหรืออายุสั้นก่อนกำหนด เพราะแรงดึงไม่พอตามหลักกลศาสตร์
- เกรดสลิง
- เกรดสลิงเป็นตัวทำให้สลิงแต่ละที่ราคาไม่เท่ากัน ถ้าเกรดสูงและค่า MBL สูง (แรงดึงต่ำสุดที่ทำให้สลิงขาด) …กรณีนี้ต้องดูที่ใบรับรองจากโรงงานผู้ผลิตเท่านั้นถึงจะทราบ (บางที่ขายสลิงไม่มีใบรับรองหรือใบรับรองปลอมก็ควรหลีกเลี่ยง วิธีดูใบ CER คือ ยี่ห้อ/ปีที่ผลิต/ขนาด/สเป็คต้องตรงกับที่อยู่สลิงที่เก็บในม้วน และมี Ribbon ที่ใส้แกนกลาง) (มีโอกาส คุณลูกค้าลอง Audit ผู้ขายดู แต่ทุกเส้นของเรามีใบ CER พร้อมรับประกัน เพราะเราได้รับรอง ISO จึงมีระบบ Audit และประเมินผู้ผลิตต้นทางสม่ำเสมอ เมื่อมีปัญหาคุณภาพเคลมได้ ลองเทียบดู)
- ลงลึกไปอาจเข้าใจยาก จึงสรุปให้เลยว่า สลิงรอกต้องอย่างน้อยมีค่า Safety Factor ที่ 5 เท่าตามกฎหมายไทยล่าสุดปี 2564 ซึ่งสามารถติดตามอ่านวิธีการคำนวณค่า Safety Factor ของสลิงในบทความที่เกี่ยวข้อง
- ต่อมาควรเลือกสลิงให้มีแรงดึงที่เกรดอย่างน้อย 1960 (200 kgf) และ 2160 (220 kgf) ขึ้นไป อย่าต่ำกว่านี้ ถ้าต่ำกว่านี้ต้องคำนวณหาค่า Safety Factor ใหม่ โปรดสังเกต ถ้ารอกพิกัดสูงแต่ขนาดสลิงเล็กก็ให้เลือกใช้เกรดสูงที่ 2160 ไว้ก่อน เนื่องจากผู้ผลิตออกแบบให้ขนาดกระชับแต่ใช้สเป็คแรงดึงที่สูง
เกรดแรงดึงสลิง Rope Grade (Rr)
Identifies the level of minimum breaking force (kN) or minimum breaking load (t)
Rope Grade 1 | Rope Grade 2 | API9A Grade |
---|---|---|
180 kgf/mm2 | 1770 N/mm2 | IPS |
200 kgf/mm2 | 1960 N/mm2 | EIPS |
220 kgf/mm2 | 2160 N/mm2 | EEIPS |
- ความยาว
- เรื่องนี้สำคัญมากที่สุด เพราะถ้าตัดผิดก็ใช้ไม่ได้ไปทันที สลิงรอกจะตัดต่อให้ยาวขึ้นไม่ได้เลย ฉะนั้นต้องเก็บสเป็คให้ชัวร์ที่สุด
- วิธีการเก็บสเป็คความยาวสลิง ถ้ามีคู่มือหรือเนมเพลทที่ตัวรอกให้ดูตรงนั้นได้เลย แต่แนะนำรีเช็คด้วยการคำนวณเพิ่มเทียบสเป็คที่ใช้งานจริงด้วย เผื่อบางทีลูกค้าบางรายก็ใส่สลิงยาวกว่าคู่มือระบุเพราะสั่งรอกมาไม่ตรงสเป็คกับระยะยกที่ใช้ เช่น ระยะยก 6.5 เมตร ก็แต่สั่งรอกที่ยกสูงได้ 6 เมตรมาใช้ จึงแก้ด้วยวิธีเปลี่ยนให้สลิงยาวขึ้นเพื่อให้ยกชิ้นงานได้ ผลที่ได้คือ สลิงจะเก็บในดรัมได้ไม่หมด ตะขอจะขึ้นได้ไม่สุด ซึ่งถ้าใครไม่รู้ที่มาที่ไป เอาแต่ดูสเป็คที่เนมเพลทอย่างเดียวก็อาจจะผิดพลาดได้
- วิธีการหาความยาวสลิง ได้แก่ กดเครนให้สลิงม้วนเก็บในดรัมให้เต็มก่อน จากนั้นวัดเส้นรอบวงของดรัม คูณ จำนวนร่องดรัมทั้งหมด + ระยะสลิงที่เหลือถึงตะขอที่ไม่อยู่ในดรัมรวมทุกทบ (มีกี่ทบอย่าลืมนับ)
- ชนิดปลายสลิง
- เลือกสลิงถูกต้องแล้วจะต้องระบุชนิดปลายสลิงด้วย ส่วนมากมี 5 แบบ คือ
- ปลายสลิงชนิดอิสระทุกข้าง : ชนิดนี้จะล้อกปลายสลิงกับแคล้มที่ดรัม 1 ข้าง และข้างที่เหลือล้อคกับสลักชนิด Wedge Socket (ภาษาช่างเรียก “หยดน้ำ”)
- ปลายสลิงชนิดอิสระ 1 ข้าง และอัดปลอก (Button) (ภาษาช่างเรียก “ย้ำตุ้ม”) : ชนิดนี้จะล้อกปลายสลิงอิสระกับแคล้มที่ดรัม 1 ข้าง และข้างที่ปลายย้ำตุ้มยึดกับรูล้อคที่ดรัม
- ปลายสลิงชนิดอิสระ 1 ข้าง และย้ำห่วงหัวใจ (Thimble Eye) (ภาษาช่างเรียก “หัวใจ”) : ชนิดนี้จะล้อกปลายสลิงอิสระกับแคล้มที่ดรัม 1 ข้าง และข้างที่ปลายห่วงหัวใจจะใช้สลักเพลาร้อยที่หัวใจเพื่อล้อคไว้กับเฟรมตัวรอก
- ปลายอัดปลอกหรือย้ำตุ้มทุกข้าง : ชนิดนี้ปลายย้ำตุ้มยึดกับรูล้อคที่ดรัมทั้งสองข้าง
- ปลายย้ำห่วงหัวใจหรือใส่หัวใจทุกข้าง : ชนิดนี้ปลายห่วงหัวใจจะใช้สลักเพลาร้อยที่หัวใจเพื่อล้อคไว้กับเฟรมตัวรอกทั้งสองข้าง
การวัดขนาดปลายสลิงแต่ละชนิดนั้น ถ้ามองเห็นเลยก็วัดง่าย แต่ถ้ารอกบางรุ่นออกแบบตำแหน่งสลักในตำแหน่งที่วัดยากก็ต้องใช้ช่างปลดออกมาวัด ซึ่งต้องเป็นช่างผู้ชำนาญเท่านั้น เรามีทีมให้คำปรึกษาที่เชี่ยวชาญและทีมช่างให้บริการด้านเทคนิคผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสลิงรอกที่ผู้ใช้งานรอกสลิงจะมั่นใจได้ว่าจะได้รับคุณภาพสูงสุด